กองทุนบัวหลวง สละเรือ TTA ขายเกลี้ยง 22 ล้านหุ้น
ปิดสมุดล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา
รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ TTA รอบนี้ มีอะไรแปลกหูแปลกตาหลายคน โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรอบเก่าที่คงได้หุ้นมาในต้นทุนแถวๆ 16-18 บาท ตั้งแต่ปลายปี 2556 ต่อต้นปี 2557 เมื่อราคาขึ้นมาเกือบ 10 บาท
จะไม่ขายก็กระไรอยู่!
และหนึ่งในบรรดาผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ขายหุ้นออกไปจนพ้นการติดรายชื่อรายใหญ่ (0.5% ขึ้นไป) หนึ่งในนั้นก็คือกองทุนบัวหลวง ซึ่งใครก็ทราบดีว่า เป็น “กองทุนในตำนาน” โดยถือเป็นเพียงไม่กี่กองทุนในประเทศที่มีผลตอบแทนเอาชนะ SET ได้

ถ้าตีว่าต้นทุน 16 บาท ขาย 24 บาท ก็กำไร 50% ใน 1 ปี เนื้อๆ ไม่มีน้ำปน…ถือเป็น record ไม่ธรรมดา สำหรับการเข้าหุ้นไม้ใหญ่ขนาดนี้ และกองทุนที่มีข้อจำกัดเล่นหุ้นเล็กร้อนไม่ได้
แต่ถ้าไปดูบทวิเคราะห์ของโบรกชั้นนำ โดยเฉพาะหลักทรัพย์บัวหลวง ในช่วงเดือน ต.ค. ถึง พ.ย. ปีที่แล้วนี่เอง ก็ออกบทวิเคราะห์ติดๆ กัน ถึง 3 ฉบับ เชียร์ให้ “ซื้อได้” โดยให้เป้าไว้สูงเกือบ 30 บาท
โบรกอันดับหนึ่งอีกค่าย ก็ยังเชียร์ให้ซื้อเหมือนกัน โดยให้เป้าราคาสูงขึ้นไปอีกเป็น 32 บาท
หมายเหตุ
เนื่องจากมีผู้นำบทความนี้ไปเผยแพร่ส่งต่อกันไปเป็นวงกว้าง จนเกิดความเชื่อมโยงในทำนองว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน นักวิเคราะห์เชียร์ให้ซื้อเพื่อที่กองทุนจะได้ขายออกมา ถึงกับมีผู้เรียกร้องให้ ก.ล.ต.มาตรวจสอบควบคุมนั้น
SET Insight ใคร่ขอชี้แจงเพื่อให้เข้าใจตรงกัน ดังนี้
ผู้ออกบทวิเคราะห์นั้นคือ “บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง จำกัด (มหาชน)” ในขณะที่กองทุนที่ขาย TTA ออกไปนั้นคือ “กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว” ซึ่งอยู่ในการดูแลของ “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด” แม้ว่าทั้งสองบริษัทนี้ต่างก็เป็นบริษัทลูกของธนาคารกรุงเทพทั้งคู่ โดย “บริษัทหลักทรัพย์บัวหลวง” นั้นธนาคารกรุงเทพได้ทำ tender offer ซื้อออกจากตลาดหลักทรัพย์ไปเมื่อสองสามปีก่อน ธนาคารกรุงเทพจึงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนี้มากกว่า 99% ในขณะที่ “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด” ธนาคารกรุงเทพถือหุ้นอยู่เพียง 75%
ดังนั้นผู้ที่ออกบทวิเคราะห์กับผู้ที่บริหารกองทุนนี้ ไม่ใช่นิติบุคคลเดียวกัน การที่คำแนะนำของบทวิเคราะห์กับการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน ไม่เป็นไปในทางเดียวกันนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เมื่อคำนึงว่า ต่างฝ่ายต่างก็ใช้ข้อมูลและวิจารณญาณตัดสินใจตามหน้าที่ของตนอย่างเต็มความสามารถ สิ่งที่เรานำเสนอในบทความนั้น เป็นเพียงเพื่อจะบอกว่า ในขณะที่บทวิเคราะห์เผยแพร่ให้สาธารณชนรับรู้กว้างขวางนั้น การเข้าออกเม็ดเงินของฝั่งกองทุนซึ่งเป็นเจ้าของเงินจริงๆ กลับเป็นที่ทราบกันน้อยมาก ทั้งที่จริงๆ แล้วก็เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่มีน้ำหนักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และชี้ให้นักลงทุนได้พิจารณาว่า ในขณะที่บทวิเคราะห์หลายแห่ง ไม่จำเพาะแต่ของหลักทรัพย์บัวหลวงแห่งเดียว แนะนำให้ซื้อ แต่กองทุนซึ่งบริหารเงินจริงๆ กลับขายออกมา ก็น่าจะมีนัยบางประการที่นักลงทุนน่านำไปพิจารณาต่อได้
ข้อมูลดีๆสำหรับนักลงทุน ขอบคุณครับ
ด้วยความยินดีครับ
จ่อซื้อเลยอย่างงี้
ขอบคุณครับ